วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

ฝีมือดิฮั้นฮ่ะ 2

อื่นๆที่ได้ทำ

วิกฤติเมืองเคนยาระส่ำหนัก หวั่นจุดชนวนฆ่าล้าง เผ่าพันธุ์ [6 ม.ค. 51 - 00:29]

เคนยา หนึ่งในประเทศอดีตอาณานิคมของอังกฤษ ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวโด่งดังไปทั่วโลก สร้างรายได้ ปีละไม่ต่ำกว่า 800 ล้านดอลลาร์ (ราว 27,200 ล้านบาท) และยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นเสมือนแหล่งพึ่งพาเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก บัดนี้สถานการณ์ภายในเคนยากลับตาลปัตร เกิดเหตุการณ์ปะทุเดือดทางการเมือง ก่อให้เกิดความหวาดวิตก นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาชมความสวยงามของท้องทุ่งเหมือนเก่า

สงครามกลางเมืองเคนยาจุดชนวนขึ้นนับจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 27 ธ.ค. หลังประธานาธิบดี เอ็มวาอิ คิบากิ เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 2 เกือบทันทีที่ทราบว่าประสบชัยชนะ ขณะที่ นายไรลา โอดิงกา ผู้สมัครชิงชัยพรรคเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยออเรนจ์ (โอดีเอ็ม) ซึ่งพ่ายการเลือกตั้ง ได้กล่าวหานายคิบากิว่าปล้นชัยชนะไปจากตน เนื่องจากมีคะแนนนำมาโดยตลอดในระหว่างนับคะแนน

โดยหลังการนับคะแนนดำเนินไปเกือบ 90% นายโอดิงกานำนายคิบากิถึง 38,000 คะแนน แต่เมื่อผลเลือกตั้งทั่วประเทศประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ นายโอดิงกากลับแพ้ด้วยคะแนนทิ้งห่างถึง 231,728 คะแนน บรรดาผู้สนับสนุนนายโอดิงกาจึงพากันโกรธแค้น ต่างลุกฮือก่อเหตุประท้วงปะทะกับผู้สนับสนุนรัฐบาล ส่งผลให้ทางการเคนยาประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายเมือง ตำรวจได้รับคำสั่งให้เข้าควบคุมสถานการณ์ และใช้ปืนกราดยิงผู้ก่อจลาจล ผู้ฉวยโอกาสก่อเหตุปล้นสะดม ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยศพ จนสถานการณ์ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลไปทั่วประเทศ

เหตุการณ์ความวุ่นวายในเคนยาจะเรียกว่าเป็นศึกของสองชนเผ่าก็ว่าได้ เนื่องจากประธานาธิบดีคิบากิ วัย 76 ปี มีเชื้อสาย “คิกูยู” ซึ่งเป็นชนเผ่าใหญ่ที่สุดในเคนยา ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเคนยามาแล้วหนึ่งสมัย ตั้งแต่ปี 2545 อ้างว่าเขาเป็นผู้กอบกู้เศรษฐกิจให้กับเคนยาตลอดระยะเวลาของการบริหารประเทศ 5 ปี ส่วนโอดิงกา ผู้นำพรรคโอดีเอ็ม วัย 62 ปี เรียกตนเองว่า “ประธานาธิบดีของประชาชน” ได้รับการสนับสนุนจากเผ่า “ลูโอ” ชนเผ่าใหญ่อันดับรองลงมา และเป็นขวัญใจประชาชนผู้ยากไร้ จำนวนมาก

ด้วยเหตุที่ทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าใหญ่ของประเทศ ซึ่งทั่วเคนยามีเผ่าต่างๆมากกว่า 42 เผ่า ทำให้ เกิดความหวาดวิตกว่าสถานการณ์ความรุนแรง อาจลุกลามบานปลายไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือน กับที่เกิดในประเทศรวันดาและบุรุนดี ช่วงปี 2533 เห็นได้จากการโจมตีอย่างเหี้ยมโหดของทั้งสองฝ่าย มีทั้งการบุกเผาบ้านเรือนฝ่ายตรงข้าม และก่อม็อบบุกฆ่าฟันกันอย่างไร้ความปรานี เหยื่อเคราะห์ร้ายถูกเผาทั้งเป็น บางรายโดนมีดโต้ฟัน ไม่เว้นเด็ก และสตรี ศพผู้คนทับถมเป็นกองพะเนินมองแล้วน่าเศร้าสลด

ความบาดหมางทางการเมืองที่บานปลายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเผ่า สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวต่อหลายชีวิต ลงลึกไปถึงครอบครัวชีวิตคู่ นายแฟรงก์ เอ็นดังกู ชายหนุ่มเชื้อสายคิกูยู วัย 23 ปี จากเมืองกีซูมู เล่าว่า ร้านอาหารของเขาถูกเพลิงเผาไหม้วอดวายจากน้ำมือของสองคู่ปรับ ขณะที่เขาคิดว่าคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว แต่แล้วแฟนสาวที่คบหากันมานานหวังแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน กลับบอกลาตัดความสัมพันธ์ตามมาติดๆ เหตุผลเพียงเพราะเขามีเชื้อสาย “คิกูยู” เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคิบากิ

เอ็นดังกูเผยว่า แฟนสาวของเขาชื่อแนนซี่ มีเชื้อสายเผ่ากาเลนจิน เธอบอกเลิกเขาผ่านข้อความโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ซึ่งมีใจความว่า “เนื่อง ด้วยครอบครัวของฉันต่างเกลียดชังเผ่าพันธุ์ “คิกูยู” ต้นกำเนิดของเธอ ฉันเกรงว่าเธอคงไม่ได้รับการต้อนรับจากที่นี่แน่ เราทั้งสองจึงต้องยุติกันเพียงแค่นี้ เพราะมัน ไม่มีอนาคตสำหรับสองเรา”

เอ็นดังกูอ่านข้อความอย่างรันทดน้อยใจ “มันช่างเป็นความซวยซ้ำซวยซ้อนยิ่งนัก ผมสูญเสียทั้งธุรกิจหนึ่งเดียวของผม และสูญเสียคนรักหนึ่งในดวงใจไปพร้อมๆกัน อนิจจา แม้แต่ความรักก็มิได้รับการยกเว้น” ขณะนี้เอ็นดังกูต้องอาศัยหลบนอนอยู่ที่ป้อมตำรวจ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าแม่และครอบครัวที่ในเมืองเอลโดเร็ต ที่ซึ่งได้รับเสียหายหนักสุดจากการจลาจลจะมีชะตากรรมเป็นตายร้ายดีเช่นไร “ผมไม่ตำหนิใครดอก พวกเราทุกคนต่างยังต้องการกันและกันอยู่”

ขณะกำลังนำเสนอเรื่องราวในเคนยา สถานการณ์ที่นั่นยังคงน่าเป็นห่วง เกิดเหตุเพลิงไหม้ควันโขมงในเมืองต่างๆอย่างต่อเนื่อง ผู้ประท้วงจุดไฟเผายางรถยนต์ประท้วงตามถนน ร้านค้าหลายแห่งถูกปล้นสะดม เด็กและสตรีผู้อ่อนแอตกเป็นเหยื่อถูกสังหาร ชาวบ้านเข้าแถวยาวเหยียดรอซื้ออาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงกักตุน ประชาชนหลายแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆราว 350 ศพ ผู้บาดเจ็บหลายพันคนรอรับการรักษา

ปฏิกิริยาจากนานาชาติที่มีต่อดินแดนแห่งนี้ แม้หลายชาติจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ อาทิ ส่งคณะตัวแทนเข้าไกล่เกลี่ย รวมถึงส่งกำลังทรัพย์หลายล้านดอลลาร์มาค้ำจุน แต่การช่วยเหลือจากนานาประเทศเหล่านั้นก็เปรียบเสมือน “ส่งถังน้ำไปร่วมดับเพลิง” เนื่องเพราะในความจริงชาวเคนยาต่างหากที่ต้องทำหน้าที่ดับเพลิงด้วยมือตนเอง กลุ่มผู้สนับสนุนจากทั้งสองฝ่ายต้องระงับความโกรธแค้นและหยุดฆ่าล้างกันเอง บรรดาหัวขโมยก็ต้องไม่ควรฉวยโอกาสปล้นสะดมร้านค้า บีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ปืนสังหาร โดยเฉพาะ “ตัวต้นเพลิง” คือ ประธานาธิบดีคิบากิ และ นายโอดิงกา ควรหันหน้าประนีประนอม ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะหรือแพ้ ก็ควรเห็นประโยชน์ความสงบสุขของชาติมาเป็นอันดับแรก

สถานการณ์ระส่ำระสายในเคนยาเวลานี้ เราท่านยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าประเทศร่วมโลกใบเดียวกัน จากทวีปแอฟริกาแดนซาฟารี จะดำเนินไปสู่สันติภาพได้หรือไม่ หรือจะมีจุดจบเฉกเช่น “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แบบที่เกิดในรวันดาและบุรุนดีหรือเปล่า...เชื่อว่าอีกไม่นานคงได้คำตอบ!!!

รพีพร นอนโพธิ์

http://www.thairath.com/news.php?section=international&content=74160

และอื่นๆ...

อุแว้! แห่เที่ยวดิสโก้ [21 ธ.ค. 50 - 19:02]
http://203.151.217.25/news.php?section=international04&content=72433


เรื่องเล่น? เต้นระบำ [3 ม.ค. 51 - 19:27]
http://thairath.com/news.php?section=international04&content=73822



ฝีมือดิฮั้นฮ่ะ

วาฬ : พิพาทต่างขั้วคนรัก-คนล่า [20 ม.ค. 51 - 00:20]

ช่วงต้นสัปดาห์มีรายงานว่า 2 นักเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บุกขึ้นเรือล่าวาฬของญี่ปุ่นเพื่อยื่นจดหมายประท้วงการล่าวาฬกลางมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ จนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่ากระทำการเยี่ยงผู้ก่อการร้าย จนกลายเป็นประเด็นใหญ่โตระดับสากล

ตามข่าวระบุ นักเคลื่อนไหวพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 2 คน ได้แก่ นายเบนจามิน พอตต์ส ชาวออสเตรเลีย วัย 28 ปี และ นายไจล์ส เลน ชาวอังกฤษ วัย 35 ปี สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “ซี เชฟเพิร์ด”บุกขึ้นเรือล่าวาฬ “ยูชิน มารุ 2” ของญี่ปุ่น ในน่านน้ำแอนตาร์กติกา ก่อนถูกควบคุมตัวไว้เป็นตัวประกัน

ข้อพิพาทระหว่างกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อต้านการล่าวาฬ กับกลุ่มล่าวาฬเพื่อการวิจัยของญี่ปุ่นเริ่มบานปลาย ภายหลังฝ่ายญี่ปุ่นตั้งเงื่อนไขให้เรือซี เชฟเพิร์ด อยู่ห่างจากเรือญี่ปุ่น 10 ไมล์ทะเล ด้านกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวโต้ว่าเรือญี่ปุ่นกระทำการเยี่ยงผู้ก่อการร้าย ซึ่งลูกเรือแดนซามูไรได้ออกมาปัดข้อกล่าวหาดังกล่าว และส่งภาพยืนยันว่านักเคลื่อนไหวทั้ง 2 คน ได้รับการปฏิบัติอย่างดี

นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ต้องออกมาคลี่คลายปัญหาด้วยตนเอง และวอนให้สองฝ่ายประนีประนอมกัน พร้อมเรียกร้องให้นายสตีเฟน สมิธ รมว.ต่างประเทศออสเตรเลียพูดคุยกับนายยาสุโอะ ฟูกูดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระทั่งล่าสุดทั้ง 2 คนถูกส่งกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย

แต่ไม่วายที่นายรัดด์ ในฐานะผู้นำออสเตรเลีย ชาติที่ต่อต้านการล่าวาฬอย่างรุนแรงที่สุด จะกล่าวเหน็บการล่าวาฬของญี่ปุ่นว่า “นี่ไม่ใช่การล่าเพื่อการวิจัย แต่เป็นการล่าเชิงพาณิชย์”

ญี่ปุ่นอาศัยประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายห้ามล่าวาฬ เพื่อการพาณิชย์ระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดใช้ตั้งแต่ปี 2529 โดยตั้ง “สถาบันวิจัยสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม” ให้ล่าวาฬได้โดยมีจุดประสงค์เพื่อการวิจัย แต่สุดท้ายญี่ปุ่นก็ไม่ได้ปิดบังว่าเนื้อวาฬที่ได้จากการล่า ถูกส่งให้กับร้านอาหารในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นล่าวาฬจากน่านน้ำแอนตาร์กติกาไปแล้วกว่า 7,000 ตัว ด้วยเหตุผลที่ว่า การล่าวาฬเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

โดยปีนี้ญี่ปุ่นตั้งเป้าล่าวาฬให้ได้ 1,000 ตัว ท่ามกลางเสียงคัดค้านและเสียงประณามจากนานาประเทศ รวมถึงถูกประท้วงทางการทูตจาก 31 ประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อยกเลิกการล่า “วาฬหลังค่อม” จำนวน 50 ตัว ซึ่งเป็นชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์

เมื่อหันมามองฝ่ายต่อต้านการล่าวาฬ นำโดยกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดัง “กรีนพีซ” ก็รณรงค์อย่างหนัก นำภาพการล่าวาฬอันโหดร้ายและทารุณออกเผยแพร่ให้ชาวญี่ปุ่น ซึ่งนิยมบริโภคเนื้อวาฬและไม่เคยรับรู้ว่าวาฬถูกฆ่าอย่างโหดร้ายเพียงใด เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ในญี่ปุ่นไม่เคยแพร่ภาพ

ด้านกลุ่ม “ซี เชฟเพิร์ด” ก่อตั้งเมื่อปี 2524 ในรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐฯ โดย พอล วัตสัน นักสิ่งแวดล้อมชาวแคนาดา วัย 57 ปี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “กรีนพีซ” มีสมาชิกทั่วโลกกว่า 40,000 คน เป็นสมาชิกพร้อมปฏิบัติการถึง 12,000 คน ได้รับเงินทุนสนับสนุนปีละเกือบ 2 ล้านดอลลาร์ (ราว 68 ล้านบาท) จากนักแสดงฮอลลีวูดหลายคน อาทิ มาร์ติน ชีน, เพียร์ซ บรอสแนน และฌอน เพ็นน์ รวมถึงวงร็อกชื่อดังจากแคลิฟอร์เนีย “เรดฮอต ชิลลี่ เปปเปอร์”

กลุ่มซี เชฟเพิร์ดถูกกล่าวหาว่านิยมใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว แต่ทางกลุ่มโต้ว่าที่ผ่านมาไม่เคยทำใครบาดเจ็บ

สำหรับกรณีนี้ นายวัตสันกล่าวหากรีนพีซว่าไม่ดำเนินมาตรการอะไรมากไปกว่าถ่ายทำสารคดีล่าวาฬ และตำหนิกลุ่มล่าวาฬว่า “คนเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากพวกล่าช้างในแอฟริกา หรือพวกล่าเสือในอินเดีย”

การบุกขึ้นเรือล่าวาฬ “ยูชิน มารุ 2” โดยฝีมือสมาชิกกลุ่มซี เชฟเพิร์ด นายวัตสันกล่าวต่อไปว่า “ข่าวดีคือพวกเราทำให้ พวกนั้นไม่ได้ฆ่าวาฬ เกือบทั้งอาทิตย์และกิจกรรมล่าวาฬต่างๆก็ยุติลงชั่วขณะ แค่นี้ก็ถือเป็นความสำเร็จของพวกเราในระดับหนึ่งแล้ว” โดยวัตสันให้คำมั่นด้วยว่าจะเดินหน้าคุกคามนักล่าวาฬ ต่อไป

ความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการปกป้องวาฬจากกลุ่มคนที่ต้องการฆ่า จะดำเนินต่อไปอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป แม้ญี่ปุ่นจะยังไม่มีวี่แววยุติการล่าวาฬ แต่อย่างน้อยการเคลื่อนไหวของนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมก็ได้ส่งเสียงให้ชาวโลกรับรู้ และตระหนักว่า “มนุษย์จะยอมให้มีการเข่นฆ่าวาฬกันต่อไปเช่นนั้นหรือ”...

รพีพร นอนโพธิ์