วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

ฝีมือดิฮั้นฮ่ะ

วาฬ : พิพาทต่างขั้วคนรัก-คนล่า [20 ม.ค. 51 - 00:20]

ช่วงต้นสัปดาห์มีรายงานว่า 2 นักเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บุกขึ้นเรือล่าวาฬของญี่ปุ่นเพื่อยื่นจดหมายประท้วงการล่าวาฬกลางมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ จนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันและกันว่ากระทำการเยี่ยงผู้ก่อการร้าย จนกลายเป็นประเด็นใหญ่โตระดับสากล

ตามข่าวระบุ นักเคลื่อนไหวพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 2 คน ได้แก่ นายเบนจามิน พอตต์ส ชาวออสเตรเลีย วัย 28 ปี และ นายไจล์ส เลน ชาวอังกฤษ วัย 35 ปี สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “ซี เชฟเพิร์ด”บุกขึ้นเรือล่าวาฬ “ยูชิน มารุ 2” ของญี่ปุ่น ในน่านน้ำแอนตาร์กติกา ก่อนถูกควบคุมตัวไว้เป็นตัวประกัน

ข้อพิพาทระหว่างกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อต้านการล่าวาฬ กับกลุ่มล่าวาฬเพื่อการวิจัยของญี่ปุ่นเริ่มบานปลาย ภายหลังฝ่ายญี่ปุ่นตั้งเงื่อนไขให้เรือซี เชฟเพิร์ด อยู่ห่างจากเรือญี่ปุ่น 10 ไมล์ทะเล ด้านกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวโต้ว่าเรือญี่ปุ่นกระทำการเยี่ยงผู้ก่อการร้าย ซึ่งลูกเรือแดนซามูไรได้ออกมาปัดข้อกล่าวหาดังกล่าว และส่งภาพยืนยันว่านักเคลื่อนไหวทั้ง 2 คน ได้รับการปฏิบัติอย่างดี

นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ต้องออกมาคลี่คลายปัญหาด้วยตนเอง และวอนให้สองฝ่ายประนีประนอมกัน พร้อมเรียกร้องให้นายสตีเฟน สมิธ รมว.ต่างประเทศออสเตรเลียพูดคุยกับนายยาสุโอะ ฟูกูดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระทั่งล่าสุดทั้ง 2 คนถูกส่งกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย

แต่ไม่วายที่นายรัดด์ ในฐานะผู้นำออสเตรเลีย ชาติที่ต่อต้านการล่าวาฬอย่างรุนแรงที่สุด จะกล่าวเหน็บการล่าวาฬของญี่ปุ่นว่า “นี่ไม่ใช่การล่าเพื่อการวิจัย แต่เป็นการล่าเชิงพาณิชย์”

ญี่ปุ่นอาศัยประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายห้ามล่าวาฬ เพื่อการพาณิชย์ระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดใช้ตั้งแต่ปี 2529 โดยตั้ง “สถาบันวิจัยสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม” ให้ล่าวาฬได้โดยมีจุดประสงค์เพื่อการวิจัย แต่สุดท้ายญี่ปุ่นก็ไม่ได้ปิดบังว่าเนื้อวาฬที่ได้จากการล่า ถูกส่งให้กับร้านอาหารในญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นล่าวาฬจากน่านน้ำแอนตาร์กติกาไปแล้วกว่า 7,000 ตัว ด้วยเหตุผลที่ว่า การล่าวาฬเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

โดยปีนี้ญี่ปุ่นตั้งเป้าล่าวาฬให้ได้ 1,000 ตัว ท่ามกลางเสียงคัดค้านและเสียงประณามจากนานาประเทศ รวมถึงถูกประท้วงทางการทูตจาก 31 ประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อยกเลิกการล่า “วาฬหลังค่อม” จำนวน 50 ตัว ซึ่งเป็นชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์

เมื่อหันมามองฝ่ายต่อต้านการล่าวาฬ นำโดยกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดัง “กรีนพีซ” ก็รณรงค์อย่างหนัก นำภาพการล่าวาฬอันโหดร้ายและทารุณออกเผยแพร่ให้ชาวญี่ปุ่น ซึ่งนิยมบริโภคเนื้อวาฬและไม่เคยรับรู้ว่าวาฬถูกฆ่าอย่างโหดร้ายเพียงใด เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ในญี่ปุ่นไม่เคยแพร่ภาพ

ด้านกลุ่ม “ซี เชฟเพิร์ด” ก่อตั้งเมื่อปี 2524 ในรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐฯ โดย พอล วัตสัน นักสิ่งแวดล้อมชาวแคนาดา วัย 57 ปี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “กรีนพีซ” มีสมาชิกทั่วโลกกว่า 40,000 คน เป็นสมาชิกพร้อมปฏิบัติการถึง 12,000 คน ได้รับเงินทุนสนับสนุนปีละเกือบ 2 ล้านดอลลาร์ (ราว 68 ล้านบาท) จากนักแสดงฮอลลีวูดหลายคน อาทิ มาร์ติน ชีน, เพียร์ซ บรอสแนน และฌอน เพ็นน์ รวมถึงวงร็อกชื่อดังจากแคลิฟอร์เนีย “เรดฮอต ชิลลี่ เปปเปอร์”

กลุ่มซี เชฟเพิร์ดถูกกล่าวหาว่านิยมใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว แต่ทางกลุ่มโต้ว่าที่ผ่านมาไม่เคยทำใครบาดเจ็บ

สำหรับกรณีนี้ นายวัตสันกล่าวหากรีนพีซว่าไม่ดำเนินมาตรการอะไรมากไปกว่าถ่ายทำสารคดีล่าวาฬ และตำหนิกลุ่มล่าวาฬว่า “คนเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากพวกล่าช้างในแอฟริกา หรือพวกล่าเสือในอินเดีย”

การบุกขึ้นเรือล่าวาฬ “ยูชิน มารุ 2” โดยฝีมือสมาชิกกลุ่มซี เชฟเพิร์ด นายวัตสันกล่าวต่อไปว่า “ข่าวดีคือพวกเราทำให้ พวกนั้นไม่ได้ฆ่าวาฬ เกือบทั้งอาทิตย์และกิจกรรมล่าวาฬต่างๆก็ยุติลงชั่วขณะ แค่นี้ก็ถือเป็นความสำเร็จของพวกเราในระดับหนึ่งแล้ว” โดยวัตสันให้คำมั่นด้วยว่าจะเดินหน้าคุกคามนักล่าวาฬ ต่อไป

ความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการปกป้องวาฬจากกลุ่มคนที่ต้องการฆ่า จะดำเนินต่อไปอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป แม้ญี่ปุ่นจะยังไม่มีวี่แววยุติการล่าวาฬ แต่อย่างน้อยการเคลื่อนไหวของนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมก็ได้ส่งเสียงให้ชาวโลกรับรู้ และตระหนักว่า “มนุษย์จะยอมให้มีการเข่นฆ่าวาฬกันต่อไปเช่นนั้นหรือ”...

รพีพร นอนโพธิ์