วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

ฝีมือดิฮั้นฮ่ะ 2

อื่นๆที่ได้ทำ

วิกฤติเมืองเคนยาระส่ำหนัก หวั่นจุดชนวนฆ่าล้าง เผ่าพันธุ์ [6 ม.ค. 51 - 00:29]

เคนยา หนึ่งในประเทศอดีตอาณานิคมของอังกฤษ ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวโด่งดังไปทั่วโลก สร้างรายได้ ปีละไม่ต่ำกว่า 800 ล้านดอลลาร์ (ราว 27,200 ล้านบาท) และยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นเสมือนแหล่งพึ่งพาเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก บัดนี้สถานการณ์ภายในเคนยากลับตาลปัตร เกิดเหตุการณ์ปะทุเดือดทางการเมือง ก่อให้เกิดความหวาดวิตก นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาชมความสวยงามของท้องทุ่งเหมือนเก่า

สงครามกลางเมืองเคนยาจุดชนวนขึ้นนับจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 27 ธ.ค. หลังประธานาธิบดี เอ็มวาอิ คิบากิ เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 2 เกือบทันทีที่ทราบว่าประสบชัยชนะ ขณะที่ นายไรลา โอดิงกา ผู้สมัครชิงชัยพรรคเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยออเรนจ์ (โอดีเอ็ม) ซึ่งพ่ายการเลือกตั้ง ได้กล่าวหานายคิบากิว่าปล้นชัยชนะไปจากตน เนื่องจากมีคะแนนนำมาโดยตลอดในระหว่างนับคะแนน

โดยหลังการนับคะแนนดำเนินไปเกือบ 90% นายโอดิงกานำนายคิบากิถึง 38,000 คะแนน แต่เมื่อผลเลือกตั้งทั่วประเทศประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ นายโอดิงกากลับแพ้ด้วยคะแนนทิ้งห่างถึง 231,728 คะแนน บรรดาผู้สนับสนุนนายโอดิงกาจึงพากันโกรธแค้น ต่างลุกฮือก่อเหตุประท้วงปะทะกับผู้สนับสนุนรัฐบาล ส่งผลให้ทางการเคนยาประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายเมือง ตำรวจได้รับคำสั่งให้เข้าควบคุมสถานการณ์ และใช้ปืนกราดยิงผู้ก่อจลาจล ผู้ฉวยโอกาสก่อเหตุปล้นสะดม ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยศพ จนสถานการณ์ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลไปทั่วประเทศ

เหตุการณ์ความวุ่นวายในเคนยาจะเรียกว่าเป็นศึกของสองชนเผ่าก็ว่าได้ เนื่องจากประธานาธิบดีคิบากิ วัย 76 ปี มีเชื้อสาย “คิกูยู” ซึ่งเป็นชนเผ่าใหญ่ที่สุดในเคนยา ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเคนยามาแล้วหนึ่งสมัย ตั้งแต่ปี 2545 อ้างว่าเขาเป็นผู้กอบกู้เศรษฐกิจให้กับเคนยาตลอดระยะเวลาของการบริหารประเทศ 5 ปี ส่วนโอดิงกา ผู้นำพรรคโอดีเอ็ม วัย 62 ปี เรียกตนเองว่า “ประธานาธิบดีของประชาชน” ได้รับการสนับสนุนจากเผ่า “ลูโอ” ชนเผ่าใหญ่อันดับรองลงมา และเป็นขวัญใจประชาชนผู้ยากไร้ จำนวนมาก

ด้วยเหตุที่ทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าใหญ่ของประเทศ ซึ่งทั่วเคนยามีเผ่าต่างๆมากกว่า 42 เผ่า ทำให้ เกิดความหวาดวิตกว่าสถานการณ์ความรุนแรง อาจลุกลามบานปลายไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือน กับที่เกิดในประเทศรวันดาและบุรุนดี ช่วงปี 2533 เห็นได้จากการโจมตีอย่างเหี้ยมโหดของทั้งสองฝ่าย มีทั้งการบุกเผาบ้านเรือนฝ่ายตรงข้าม และก่อม็อบบุกฆ่าฟันกันอย่างไร้ความปรานี เหยื่อเคราะห์ร้ายถูกเผาทั้งเป็น บางรายโดนมีดโต้ฟัน ไม่เว้นเด็ก และสตรี ศพผู้คนทับถมเป็นกองพะเนินมองแล้วน่าเศร้าสลด

ความบาดหมางทางการเมืองที่บานปลายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเผ่า สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวต่อหลายชีวิต ลงลึกไปถึงครอบครัวชีวิตคู่ นายแฟรงก์ เอ็นดังกู ชายหนุ่มเชื้อสายคิกูยู วัย 23 ปี จากเมืองกีซูมู เล่าว่า ร้านอาหารของเขาถูกเพลิงเผาไหม้วอดวายจากน้ำมือของสองคู่ปรับ ขณะที่เขาคิดว่าคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว แต่แล้วแฟนสาวที่คบหากันมานานหวังแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน กลับบอกลาตัดความสัมพันธ์ตามมาติดๆ เหตุผลเพียงเพราะเขามีเชื้อสาย “คิกูยู” เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคิบากิ

เอ็นดังกูเผยว่า แฟนสาวของเขาชื่อแนนซี่ มีเชื้อสายเผ่ากาเลนจิน เธอบอกเลิกเขาผ่านข้อความโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ซึ่งมีใจความว่า “เนื่อง ด้วยครอบครัวของฉันต่างเกลียดชังเผ่าพันธุ์ “คิกูยู” ต้นกำเนิดของเธอ ฉันเกรงว่าเธอคงไม่ได้รับการต้อนรับจากที่นี่แน่ เราทั้งสองจึงต้องยุติกันเพียงแค่นี้ เพราะมัน ไม่มีอนาคตสำหรับสองเรา”

เอ็นดังกูอ่านข้อความอย่างรันทดน้อยใจ “มันช่างเป็นความซวยซ้ำซวยซ้อนยิ่งนัก ผมสูญเสียทั้งธุรกิจหนึ่งเดียวของผม และสูญเสียคนรักหนึ่งในดวงใจไปพร้อมๆกัน อนิจจา แม้แต่ความรักก็มิได้รับการยกเว้น” ขณะนี้เอ็นดังกูต้องอาศัยหลบนอนอยู่ที่ป้อมตำรวจ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าแม่และครอบครัวที่ในเมืองเอลโดเร็ต ที่ซึ่งได้รับเสียหายหนักสุดจากการจลาจลจะมีชะตากรรมเป็นตายร้ายดีเช่นไร “ผมไม่ตำหนิใครดอก พวกเราทุกคนต่างยังต้องการกันและกันอยู่”

ขณะกำลังนำเสนอเรื่องราวในเคนยา สถานการณ์ที่นั่นยังคงน่าเป็นห่วง เกิดเหตุเพลิงไหม้ควันโขมงในเมืองต่างๆอย่างต่อเนื่อง ผู้ประท้วงจุดไฟเผายางรถยนต์ประท้วงตามถนน ร้านค้าหลายแห่งถูกปล้นสะดม เด็กและสตรีผู้อ่อนแอตกเป็นเหยื่อถูกสังหาร ชาวบ้านเข้าแถวยาวเหยียดรอซื้ออาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงกักตุน ประชาชนหลายแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆราว 350 ศพ ผู้บาดเจ็บหลายพันคนรอรับการรักษา

ปฏิกิริยาจากนานาชาติที่มีต่อดินแดนแห่งนี้ แม้หลายชาติจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ อาทิ ส่งคณะตัวแทนเข้าไกล่เกลี่ย รวมถึงส่งกำลังทรัพย์หลายล้านดอลลาร์มาค้ำจุน แต่การช่วยเหลือจากนานาประเทศเหล่านั้นก็เปรียบเสมือน “ส่งถังน้ำไปร่วมดับเพลิง” เนื่องเพราะในความจริงชาวเคนยาต่างหากที่ต้องทำหน้าที่ดับเพลิงด้วยมือตนเอง กลุ่มผู้สนับสนุนจากทั้งสองฝ่ายต้องระงับความโกรธแค้นและหยุดฆ่าล้างกันเอง บรรดาหัวขโมยก็ต้องไม่ควรฉวยโอกาสปล้นสะดมร้านค้า บีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ปืนสังหาร โดยเฉพาะ “ตัวต้นเพลิง” คือ ประธานาธิบดีคิบากิ และ นายโอดิงกา ควรหันหน้าประนีประนอม ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะหรือแพ้ ก็ควรเห็นประโยชน์ความสงบสุขของชาติมาเป็นอันดับแรก

สถานการณ์ระส่ำระสายในเคนยาเวลานี้ เราท่านยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าประเทศร่วมโลกใบเดียวกัน จากทวีปแอฟริกาแดนซาฟารี จะดำเนินไปสู่สันติภาพได้หรือไม่ หรือจะมีจุดจบเฉกเช่น “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แบบที่เกิดในรวันดาและบุรุนดีหรือเปล่า...เชื่อว่าอีกไม่นานคงได้คำตอบ!!!

รพีพร นอนโพธิ์

http://www.thairath.com/news.php?section=international&content=74160

และอื่นๆ...

อุแว้! แห่เที่ยวดิสโก้ [21 ธ.ค. 50 - 19:02]
http://203.151.217.25/news.php?section=international04&content=72433


เรื่องเล่น? เต้นระบำ [3 ม.ค. 51 - 19:27]
http://thairath.com/news.php?section=international04&content=73822